รีวิว “เธอฟอร์แคช สินเชื่อรักแลกเงิน”

1 min read

เรื่องราวของ ‘เธอฟอร์แคช’ จะเล่าถึง โบ้ (ไบร์ท วชิรวิชญ์) นักเลงทวงหนี้ในย่านพัทยาที่ต้องไปทวงหนี้ลุงอ๊อด (วัชระ ปานเอี่ยม) พ่อของ อิ๋ม (ญาญ่า อุรัสยา) แต่เมื่อพ่อล้มป่วย อิ๋มจำเป็นต้องรับหน้าที่ในการใช้หนี้แทนพ่อ ในขณะที่โบ้เองก็รู้สึกชอบพออิ๋มจนยื่นข้อเสนอให้อิ๋มไปออกเดทกับเขาเพื่อใช้หนี้ และยิ่งโบ้กับอิ๋มใช้เวลาด้วยกันมากขึ้นความรักของทั้งคู่ก็กลับเบ่งบาน โดยไม่รู้เลยว่ากำลังมีคลื่นอุปสรรคลูกใหญ่ที่กำลังเตรียมซัดความสัมพันธ์ของทั้งคู่เพื่อพิสูจน์ระหว่างมูลค่าของเงินกับคุณค่าของความรัก

“เธอ ฟอร์ แคช สินเชื่อ..รักแลกเงิน”

ชื่อเรื่อง เธอ ฟอร์ แคช สินเชื่อ..รักแลกเงิน
ชื่ออื่น  The Interest ผ่อนรักนอกระบบ
ประเภท  ดรามา / โรแมนติก
นำแสดงโดย  วชิรวิชญ์ ชีวอารี, อุรัสยา เสเปอร์บันด์, พรชิตา ณ สงขลา
กำกับโดย  วาสุเทพ เกตุเพ็ชร์
กำหนดฉาย  25 เมษายน 2024
ความยาว  135 นาที

ณ โลกสีเทาของเมืองชายหาดอันโด่งดังของไทย เขาคือหนุ่มหล่อนักทวงหนี้นอกระบบ ที่อาชีพของเขาแต่ละวันต้องเผชิญหน้ากับความขัดแย้งและความรุนแรงซ้ำ ๆ วนลูปแบบไม่รู้จบ แต่เมื่อเขาที่เบื่อกับวังวนแสนจำเจกับชีวิตนักทวงหนี้ และคิดที่จะวางมือจากอาชีพนี้ไปหาอย่างอื่นทำ เจ๊ผู้เคารพรักได้ไหว้วานให้เขาปิดจ็อบสุดท้ายด้วยการสั่งให้ไปตามทวงหนี้หญิงสาวคนหนึ่ง มันจึงกลายเป็นหนี้ก้อนที่ถูกทวงคืนเป็น…ความรัก

เธอ ฟอร์ แคช สินเชื่อ..รักแลกเงิน

นำแสดงโดย

ไบร์ท-วชิรวิชญ์ ชีวอารี รับบท โบ้
ญาญ่า-อุรัสยา เสเปอร์บันด์ รับบท อิ่ม
พรชิตา ณ สงขลา รับบท เจ๊วรรณ
ป๋อมแป๋ม-นิติ ชัยชิตาทร รับบท ริชชี
อู๋-ธนบูรณ์ เกียรตินิรันดร์ รับบท แป๊ด
วงศกร รัศมิทัต รับบท พ่อบุญ
วัชระ ปานเอี่ยม รับบท ลุงอ๊อด
อุกฤษ วิลลีย์ บรอด ดอนกาเบรียล รับบท ประสิทธิ์
ภาคภูมิ จงมั่นวัฒนา รับบท เอก

เธอ ฟอร์ แคช สินเชื่อ..รักแลกเงิน

ก่อนอื่นต้องขอออกตัวว่าผู้เขียนเองยังไม่มีโอกาสได้ชมภาพยนตร์เวอร์ชันเกาหลีที่เป็นต้นฉบับแต่ได้ชมฉบับรีเมคของไต้หวันที่ลงสตรีมมิงทางเน็ตฟลิกซ์ในชื่อ ‘Man in Love’ เหมือนกัน จึงทำให้เข้าใจได้ว่ามุกตลกหลายอย่างของ ‘เธอฟอร์แคช’ คือการรับมาจากหนังเวอร์ชันเกาหลีเหมือนกันตามที่เห็นในตัวอย่างทั้งกลวิธีทวงหนี้ที่โบ้เอาของทุบหัวตัวเอง, มุกกดบัตรคิวหลาย ๆ ใบ หรือการทำตารางเดทชดใช้หนี้ จะต่างกันก็คงเป็นเรื่องความเบียวที่ดูแล้วฉบับไต้หวันดูจะเล่นใหญ่ขายความโฉ่งฉ่างของมุกตลกในช่วงองก์แรกของหนังก่อนจะปูไปสู่ความโรแมนติกในช่วงกลางและความตับพังในช่วงท้ายที่บอกได้เลยว่าบทสรุปของหนังทั้งเวอร์ชันต้นฉบับและรีเมคของไต้หวันต่างก็ทำคนดูร้องไห้ตาบวมกันมานักต่อนักแล้ว

สำหรับในเวอร์ชันไทยที่กำกับโดย วาสุเทพ เกตุเพ็ชร์ ผู้กำกับที่เคยมีผลงานเด่นคือซีรีส์ ‘The Gifted Graduation’ ที่กวาดเสียงชื่นชมไปมากมาย ถือว่าทำหนังในภาพรวมออกมาดูลื่นไหลพอใช้ได้อยู่เหมือนกัน แม้จะเข้าใจในข้อจำกัดหลายอย่างแต่วาสุเทพก็พยายามคงอารมณ์ของหนังต้นฉบับให้ได้มากที่สุด ทั้งการเปิดเรื่องที่อัลคาซาร์เพื่อฉายภาพพัทยาให้เด่นชัดและซัดมุกตลกกันตั้งแต่เปิดตัว ป๋อมแป๋ม นิติ ชัยชิตาทร ลูกหนี้คนแรกกับวลีเด็ดในตัวอย่างหนังก็เรียกเสียงฮาจากผู้ชมไปได้ไม่น้อย ซึ่งการใช้พัทยาเป็นฉากหลังที่จริงแล้วผู้กำกับสามารถดันให้มันไปพูดเรื่องความเหลื่อมล้ำในพื้นที่ได้อีกมากโขแต่ก็เลือกจะหยุดไว้ที่โทนอารมณ์โรแมนติกคอเมดี้เบา ๆ มากกว่า

ซึ่งก็รวมถึงความหล่อและมาดเท่ ๆ ของไบร์ท วชิรวิชญ์ ในบทโบ้ที่พอเป็นเวอร์ชันไทยก็ปรับให้ดูเป็นแบดบอยที่มีความพระเอกแสนดีซ่อนอยู่ต่างจากเวอร์ชันเกาหลีหรือเวอร์ชันไต้หวันไม่น้อย ซึ่งส่งผลโดยตรงต่อความหมายของเรื่องราวอยู่เหมือนกัน เพราะในเวอร์ชันเกาหลีคือผู้ชายวัย 42 ปีที่เพิ่งตกหลุมรักครั้งแรกแถมร่างกายยังบอบช้ำจากการใช้ชีวิตนักเลงมานาน หรือในเวอร์ชันไต้หวันที่ตัวพระเอกดูเป็นนักเลงในวัยประมาณ 30 ปีเศษที่คิดอยากสร้างครอบครัวและซ่อนความเป็นหนุ่มแสนดีไว้ภายใต้ท่าทีกวน ๆ ต่างจากของไบร์ทที่ดูยังไงก็เป็นวัยรุ่นหล่อ ๆ แบด ๆ แถมแต่งตัวเทสต์ดีกว่าอีก 2 เวอร์ชันเป็นเท่าตัวอีกด้วย

และจากการเปรียบเทียบหนังในฉบับไต้หวันกับไทยก็จะพบว่าใน ‘เธอฟอร์แคช #สินเชื่อรักแลกเงิน’ เลือกลดบทบาทตัวละครที่เคยมีบทบาทใน 2 เวอร์ชันก่อนออกโดยเฉพาะบทพ่อของพระเอกและบทหลานสาวของพี่ชายคนโต ในกรณีแรกดูจะเป็นปัญหากับปมที่หนังต้องการสื่อคือเรื่องที่พ่อมองโบ้เป็นคนไม่เอาไหนหรือโบ้มองว่าพ่อเกลียดตัวเองเพราะผู้ชมก็ไม่เห็นความสัมพันธ์ของทั้งคู่ในระดับประจักษ์แก่สายตามากพอ ส่วนกรณีบทหลานสาวที่กว่าจะได้เห็นหน้าก็ปาไปเกือบหนังจบอันนี้แค่ทำให้ความน่ารักในฉบับไต้หวันหล่นหายไปจากเวอร์ชันไทยแค่นั้น

BT Buzz รีวิว เธอฟอร์แคช #สินเชื่อรักแลกเงิน
BT Buzz รีวิว เธอฟอร์แคช #สินเชื่อรักแลกเงิน

แต่ปัญหาสำคัญของหนังจริง ๆ คือการพยายามยัดปมปัญหาหลายอย่างที่ถูกใส่มาแล้วไม่ได้สานต่อ ทั้งครอบครัวของโบ้ที่ไม่ยอมรับในสถานะนักเลงทวงหนี้ (ดังที่กล่าวไปแล้ว) หรือการพยายามฉายภาพช่วงองก์แรกที่มีทั้งปัญหาหนี้ในครอบครัวโบ้ที่ทำให้เอก (รับบทโดย อูล ภาคภูมิ จงมั่นวัฒนา) พี่ชายของโบ้ทะเลาะกับเมียจนนำไปสู่การหอบลูกหนีต่างจังหวัด ที่สำคัญคือนอกจากมุกตลกที่เอกตัดผมลูกค้าแหว่งตอนด่ากับเมียต่อหน้าโบ้แล้ว สถานะร้านตัดผมของเอกก็แทบไม่มีความสำคัญอะไรเลยด้วยซ้ำ ไม่สำคัญขนาดที่ว่า โบ้เซ็ดผมเองตอนไปออกเดทกับอิ๋มอ่ะคิดดู (ฮ่าาา) ในขณะที่ฉบับไต้หวันได้เอาประเด็นร้านตัดผมมาขยี้เรื่องความฝันของพี่ชายที่อยากมี บาร์เบอร์โพล (แท่งหลอดไฟสัญลักษณ์ร้านดัดผม) และกลายเป็นโมเมนต์ตับพังในตอนท้ายของหนังอีกที

หรือความสัมพันธ์ระหว่างโบ้กับลุงอ๊อดที่ดูจับต้องเนื้อหาสาระได้ยากเหลือเกิน ทั้งที่เป็นความแตกต่างจาก 2 เวอร์ชันก่อนชัดเจนมาก และการแสดงของพี่เจี๊ยบ วัชระ ปานเอี่ยม จริง ๆ ก็น่าสนใจเพราะมีภูมิหลังที่ถูกบอกเล่าผ่านปากของอิ๋มว่าเธอโกรธพ่อมากที่จมกับกองหนี้เพื่อเปิดร้านแต่ก็เจ๊งจนหนี้ท่วมหัว ซึ่งเมื่อย้อนกลับมาชมฉากเดิมกับพฤติกรรมที่ก๊งเหล้าขาวตอนเปิดร้านขายเต้าหู้ทอดถึงได้เข้าใจในความเจ็บปวดและกลายเป็นว่ารูปของลูกสาวตอนรับปริญญาที่ติดไว้ที่กระป๋องเงินก็คือความหวังว่าสักวันจะเก็บเงินไว้ให้ลูกสาวให้ได้ แต่พอสารตรงนี้ไม่ถูกบอกเล่าและโดนบีบเวลาในการถ่ายทอดอารมณ์ ผลลัพธ์ของมันเลยสูญเปล่าไปอย่างน่าเสียดาย

จนการมาถึงของอิ๋ม ตัวละครของญาญ่าที่ต้องบอกว่าช่วยมาแบกและสานต่อเรื่องราวของหนังสู่จุดที่ผู้ชมเฝ้ารอจริง ๆ และแม้จะต้องยอมรับว่าด้วยข้อจำกัดเลยทำให้กิจกรรมระหว่างอิ๋มกับโบ้วนเวียนแต่ “ไปดื่มไปดริงค์” กินหมูกระทะ นั่งชิลริมหาด แต่ทุกซีนที่ญาญ่าปรากฎตัวมันคือความมหัศจรรย์ทางการแสดงจริง ๆ แอ็กติ้งของญาญ่าทำให้ประโยคธรรมดาอย่าง “อยู่ที่นี่แหละ ดูเหลวแหลกดี” ดูมีความหมายและส่งอารมณ์ให้ผู้ชมรับรู้ถึงความจนตรอกของเธอจนทำให้ชั่วขณะผู้ชมสามารถลืมสถานะซูเปอร์สตาร์ของเธอไปได้ ซึ่งมันทำให้เห็นว่าพอหนังได้นักแสดงที่เข้าใจว่าประโยคแต่ละท่อนต้องการสื่ออะไรก็สามารถสร้างแรงสั่นสะเทือนไปถึงผู้ชมได้ไม่น้อยเลยครับ

ทีนี้มาถึง ไบร์ท วิชรวิชญ์ ซึ่งก็คงต้องให้ความเป็นธรรมกับคาแรกเตอร์ โบ้ แหละครับเพราะแนวคิดการดีไซน์ตัวละครต่างจากตัวละคร “อาจาง” ในฉบับไต้หวัน หรือ “แท-อิล” ในฉบับเกาหลีใต้ ซึ่งแม้สถานะการเป็นคนจนบวกกับวัยรุ่นเด็กแว๊นจะเอื้อให้ตัวละครนี้สามารถแสดงออกซึ่งความเลือดร้อน หัวร้อน ได้มากกว่าอาจางหรือแท-อิล แต่ก็ดันดู “สะอาด” กว่าทุกเวอร์ชัน แต่งตัวดูเป็นแฟชั่นมากกว่าลุคนักเลงหัวไม้ ซึ่งแม้เปรียบมวยกับ ญาญ่า ในภาพรวมอาจจะได้คะแนนรองแต่พอถึงฉากโชว์ดราม่าก็ต้องยอมรับแหละครับว่าผู้ชายชื่อ ไบร์ท วิชรวิชญ์ เป็นซูเปอร์สตาร์ได้เพราะเขาก็สามารถเป็นนักแสดงคุณภาพได้เหมือนกัน ในส่วนตัวก็ยังขอชื่นชมไบร์ทในจุดนี้แม้ตัวหนังจะเป็นเวอร์ชันที่ผู้เขียนชอบน้อยที่สุดก็ตาม

มาถึงเซอร์ไพร์สสำคัญในบทมาเฟียหญิงอย่าง เจ๊วรรณ หรือ “แม่” ที่ได้ เบนซ์ พรชิตา ณ สงขลา มารับบทดาร์ค ๆ ครั้งแรกแบบไม่ห่วงสวย (แต่ก็สวยอยู่ดีนะครับ 555) มีหลายโมเมนต์เหมือนกันที่พรชิตาทำให้เจ๊วรรณดูเป็นตัวละครที่เดาทางไม่ได้ ไม่ร้ายอย่างชัดเจน แต่พอถึงบทร้ายก็โคตรน่ากลัวเลยจนแอบคิดว่าถ้ามีหนังสปินออฟอยากดูเรื่องของเจ๊วรรณนี่แหละที่สุดแล้วว่าอะไรที่หล่อหลอมให้เธอกลายมาเป็นมาเฟียเงินกู้ขาใหญ่ของพัทยาได้

ภาพรวมของภาพยนตร์เรื่องนี้ ถือว่าทำออกมาได้ดีในระดับที่น่าพึงพอใจ ในการถ่ายทอดโจทย์ของเจ้าหนี้และลูกหนี้ที่มีความรู้สึกดีๆ ให้แก่กัน นำพาไปสู่ปมปัญหาและเรื่องราวมากมายเป็นการทดสอบความสัมพันธ์ของทั้งสองคน ผ่านการถ่ายทอดบริบทการเป็นหนี้นอกระบบที่ค่อนข้างใกล้ตัวให้ผู้ชมเข้าใจง่าย ฉากบู๊ ฉากดราม่าอารมณ์มาเต็มกันทุกตัวละคร พร้อมด้วยเคมีการแสดงของพระนางที่ลงตัวกันแบบพอเหมาะพอดี แม้ว่าตลอดระยะเวลากว่า 2 ชั่วโมง จะมีช่วงเบา และยืดยาวในบางฉากไปบ้างก็ตาม แต่นั่นก็ไม่ได้ทำให้ความสนุกของภาพยนตร์เรื่องนี้ลดน้อยลงไปเลย

You May Also Like

More From Author

+ There are no comments

Add yours